วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


การก่อการร้ายสากล
เสนอ
อาจารย์วนิดา ศรีคง
   
1...ชนกเพ็ญ แก้ววรรณดี ม.1.5 เลขที่5
2...ณิชา คีรีวรรณมาศ ม.1.5 เลขที่10
3...บุณยาพร สุวัฒนพันธุ์กุล .1.5 เลขที่14
4...ปรียาภา เดชตระกูลวงศ์ ม.1.5 เลขที่18
5...พุธิตา อาริสโตเรนัส .1.5 เลขที่25
6...เพ็ญพิชชา วงศ์ชนะภัย ม.1.5 เลขที่26
7...วาริศา พวงหอม .1.5 เลขที่28
8...อสมาภรณ์ ถวัลยวิชชจิต ม.1.5 เลขที่34



รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาโลกศึกษา(ส.20203)
โรงเรียนสตรีวิทยา
ภาคเรียนที่2 ปีการศึกษา2554

คำนำ
รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาโลกศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1.5 โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้จัดทำได้ฝึกการศึกษาค้นคว้าและเก็บรายงานไว้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนของตนเองและครูผู้สอนต่อไป ทั้งนี้ ในรายงานนี้มีเนื้อหาประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับการก่อการร้าย
                ผู้จัดทำได้เลือกหัวข้อนี้ในการทำรายงาน เนื่องมาจากเป็นเรื่องที่น่าสนใจ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงข้อมูลทั่วไปของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ ผู้จัดทำต้องขอขอบพระคุณอาจารย์วนิดา ศรีคง ผู้ให้ความรู้ คำปรึกษา และแนวทางในการศึกษา หวังว่ารายงานฉบับนี้จะให้ความรู้ และเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกๆท่าน หากมีข้อเสนอแนะประการใด ผู้จัดทำขอรับไว้ด้วยความขอบพระคุณอย่างยิ่ง
                                                                                                                        
ลงชื่อ ด.ญ.ชนกเพ็ญ   แก้ววรรณดี
                                                                                                                            และคณะผู้จัดทำ

กลุ่มก่อการร้ายสากล
ความหมายของการก่อการร้าย (Terrorism)
การก่อการร้าย เป็นคำที่ยังไม่มีการจำกัดความในกฎหมายอาญาที่มีผลผูกมัดตามกฎหมายและได้รับการยอมรับอย่างสากล  การจำกัดความโดยทั่วไปของการก่อการร้ายนั้นหมายถึงเพียงพฤติการณ์รุนแรงซึ่งมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความกลัว กระทำการเพื่อจุดประสงค์ทางศาสนา การเมืองหรืออุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการกระทำที่จงใจหรือไม่ใส่ใจต่อความปลอดภัยของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง (พลเรือน) และกระทำโดยองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐใด ๆ "การก่อการร้าย" เป็นข้อกล่าวหาทางการเมืองและอารมณ์  ซึ่งยิ่งเป็นการทำให้การให้คำจำกัดความที่แม่นยำยิ่งยากขึ้นไปอีก การศึกษาได้พบการจำกัดความ "การก่อการร้าย" มากกว่า 100 แบบ  แนวคิดของการก่อการร้ายนั้นอาจเป็นหัวข้อโต้เถียงด้วยตัวของมันเอง เนื่องจากมันถูกใช้อย่างบ่อยครั้งโดยหน่วยงานของรัฐเพื่อลดความชอบธรรมของศัตรูการเมืองหรืออื่น ๆ และมีศักยภาพที่จะเพิ่มความชอบธรรมให้แก่รัฐในการใช้กำลังกับผู้ต่อต้าน ซึ่งการใช้กำลังเช่นนี้อาจถูกอธิบายว่าเป็นการสร้าง "ความกลัว" ขึ้นโดยศัตรูการเมืองนั้นด้วย การก่อการร้ายเป็นการกระทำโดยองค์กรการเมืองอย่างกว้างขวางเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของตนเอง ซึ่งมีการดำเนินการทั้งพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา กลุ่มชาตินิยม กลุ่มศาสนา กลุ่มปฏิวัติ และรัฐบาลซึ่งปกครอง ลักษณะทั่วไปคือการใช้ความรุนแรงอย่างขาดการพิจารณาต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อจุดประสงค์ในการเพิ่มความเป็นที่รู้จักให้กับกลุ่ม แนวคิด หรือบุคคล
          
กลุ่มผู้ก่อการร้ายสากล
กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น มีรายงานว่าทุกวันนี้มีอยู่ประมาณ 37 กลุ่ม แต่ในส่วนของ "กลุ่มผู้ก่อการร้ายสากล" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ปัจจุบันมีดังนี้ 
1. กลุ่มเฮซบอลลาห์
2. กลุ่มอิสลามิ ญิฮัด และชาวปาเลสไตน์
3. กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์
4. กลุ่มอาบู นิดาล
5. กลุ่มกัมมา อัล-อิสลามิยา                                                                                                                                                        6. กลุ่มอัลญิฮัด
7. กลุ่มพยัคฆ์แห่งอ่าวอาหรับ                                                                                                                                                     8. กลุ่มขบวนการอิสลามเพื่อการเปลี่ยนแปลง ( IMC )                                                                                                              9. กลุ่มอันศาร์ อัลเลาห์
10. กลุ่มเฮซบอลเลาห์ ซาอุดิอาระเบีย
11. กลุ่มเฮซบอลเลาห์ กัลฟ์
12. กลุ่มขบวนการเพื่อการปฏิรูปอิสลามใน                                                                                                                                  13. กลุ่มคณะกรรมการเพื่อคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย                                                                                                                 14. กลุ่มคิด และคาฮาเน ชาย                                                                                                                                                         15. กลุ่มมูจาฮีดีน เอ
16. กลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือ "พีแอลโอ" มี ยัสเซอร์ อาราฟัต
17. กลุ่มหัวรุนแรง "ฮามาส"                                                                                                                                                            18. ขบวนการปลดปล่อยไอร์แลนด์เหนือ หรือ "ไออาร์เอ"
19. กลุ่มกบฏชาวเคิร์ด หรือ "พีเคเค"
20. กลุ่มหัวรุนแรง "จิฮัด"
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่าง...ยังมีกลุ่มก่อการร้ายที่มีชื่อรู้จักกันทั่วโลกอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มฮิชบราลาห์ ในเลบานอน อิสราเอล, กลุ่มองค์กร 15 พ.ค. ในอิรัก, กลุ่มอาบูนิคัล ในลิเบีย, กลุ่มตูบัคอามารู ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดฝีไม้ลายมือแสบเข้าขั้นทั้งนั้น และก็รวมถึง กลุ่มเรดอาร์มีญี่ปุ่น หรือ "เจอาร์เอ" ที่ระยะหลังก็น่ากลัวเช่นกัน เพราะทุกครั้งที่ปฏิบัติการเป้าหมายมักจะมีผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง 
กลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์
อัลกออิดะฮ์เป็นองค์กรทางทหารของมุสลิมนิกายซุนนี มีเป้าหมายเพื่อขับไล่อิทธิพลของต่างชาติออกไปจากประเทศมุสลิม สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือลัทธิวะฮาบีย์หรือซาฟาอีย์ อัลกออิดะฮ์เป็นที่รู้จักจากการก่อวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ทำให้สหรัฐอเมริกาออกมาต่อต้านกลุ่มนี้ภายใต้คำว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายกลุ่มนี้ถูกจัดให้เป็นกลุ่มก่อการ-ร้ายโดยสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, อินเดีย,ซาอุดีอาระเบีย, นาโต, สหประชาชาติ, สหภาพยุโรป, อิสราเอล, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, รัสเซีย, สวีเดน, ตุรกี และสวิตเซอร์แลนด์


ที่มาของชื่ออัลกออิดะฮ์
คำว่าอัลกออิดะฮ์เป็นภาษาอาหรับหมายถึงมูลนิธิ ที่มั่น บิน ลาดินให้สัมภาษณ์แก่วารสาร al Jazeera ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 ว่าคำว่าอัลกออิดะฮ์นี้ใช้ตั้งแต่สมัยที่กลุ่มมุญาฮิดีนต่อสู้กับสหภาพโซเวียตโดยเรียกค่ายฝึกว่าอัลกออิดะฮ์             คำว่าอัลกออิดะฮ์นำมาใช้เป็นครั้งแรกโดยกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 ในการสอบสวนผู้ต้องหาสี่คนที่นิวยอร์กจากคดีการวางระเบิดสถานทูตสหรัฐในแอฟริกาตะวันออกเมื่อ พ.ศ. 2541 ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 กลุ่มนี้ปรากฏในชื่อกออิดะฮ์ อัล ญิฮาด (ที่มั่นแห่งญิฮาด)
ประวัติการก่อตั้งกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์
 จุดกำเนิดของกลุ่มเริ่มขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์หลังโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานใน พ.ศ. 2522 โดยการบริหารของชาวอาหรับจากต่างประเทศในชื่อมุญาฮิดีน สนับสนุนทางการเงินโดยบิน ลาดินและการบริจาคของชาวมุสลิม สหรัฐมองว่าการรุกรานอัฟกานิสถานของโซเวียตเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น หน่วยสืบราชการลับได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าวผ่านทางปากีสถาน อัลกออิดะฮ์พัฒนาจากกลุ่ม Maktab al-Khadamat ที่เป็นส่วนหนึ่งของมุญาฮิดีน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหารชาวปาเลสไตน์ และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐเช่นเดียวกับมุญาฮิดีนกลุ่มอื่นๆ การสู้รบดำเนินไป 9 ปี จนสหภาพโซเวียตถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานใน พ.ศ. 2532 รัฐบาลสังคมนิยมของ โมฮัมเหม็ด นาจิบุลลอห์ ถูกมุญาฮิดีนล้มล้าง แต่เนื่องจากผู้นำกลุ่มมุญาฮิดีนไม่สามารถตกลงกันได้ ความวุ่นวายจากการแย่งชิงอำนาจจึงตามมา                                                                 
หลังจากสงครามต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถานสิ้นสุดลงนักรบมุญาฮิดีนบางกลุ่มต้องการขยายการต่อสู้ออกไปทั่วโลกในนามนักรบอิสลามเช่นความขัดแย้งในอิสราเอลและแคชเมียร์ หนึ่งในความพยายามนี้คือการตั้งกลุ่มอัลกออิดะฮ์โดยบิน ลาดินใน พ.ศ. 2531
เมื่อสงครามในอัฟกานิสถานสิ้นสุดลง บิน ลาดินเดินทางกลับสู่ซาอุดีอาระเบีย เมื่อเกิดการรุกรานคูเวตของอิรักใน พ.ศ. 2533 บิน ลาดินได้เสนอให้ใช้นักรบมุญาฮิดีนของเขาร่วมมือกับกษัตริย์ฟาฮัด เพื่อปกป้องซาอุดีอาระเบียจากการรุกรานของอิรักที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียปฏิเสธและหันไปอนุญาตให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในซาอุดีอาระเบีย ทำให้บิน ลาดินไม่พอใจ เพราะเขาไม่ต้องการให้มีกองทหารต่างชาติในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม (คือเมกกะและเมดีนา) การที่เขาออกมาต่อต้านทำให้เขาถูกบีบให้ไปซูดานและถูกถอนสัญชาติซาอุดีอาระเบีย
ใน พ.ศ. 2534 แนวร่วมอิสลามแห่งชาติซูดานขึ้นมามีอำนาจและเชื้อเชิญกลุ่มอัลกออิดะฮ์ให้ย้ายเข้ามาภายในประเทศ อัลกออิดะฮ์เข้าไปประกอบธุรกิจในซูดานเป็นเวลาหลายปี และสนับสนุนเงินในการสร้างทางหลวงจากเมืองหลวงไปยังท่าเรือซูดาน พ.ศ. 2539 บิน ลาดินถูกบีบให้ออกจากซูดานเนื่องจากแรงกดดันของสหรัฐ เขาจึงย้ายกลุ่มอัลกออิดะฮ์ไปตั้งมั่นในเมืองจะลาลาบาด อัฟกานิสถาน
การประกาศเอกราชของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาออกจากยูโกสลาเวียในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ทำให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาแห่งใหม่ในยุโรปในบอสเนีย ชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมแต่ก็มีชาวเซิร์บที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์และชาวโครแอตนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้เกิดความขัดแย้งที่เป็นสามเส้าขึ้น โดยเซอร์เบียและโครเอเชียหนุนหลังชาวเซิร์บและชาวโครแอตที่มีเชื้อชาติเดียวกันตามลำดับ เหล่านักรบอาหรับในอัฟกานิสถานเห็นว่าสงครามในบอสเนียเป็นโอกาสอันดีที่จะปกป้องศาสนาอิสลาม ทำให้กลุ่มต่างๆเหล่านี้ รวมทั้งอัลกออิดะฮ์เข้าร่วมในสงคราม ตั้งเป็นกลุ่มมุญาฮิดีนบอสเนีย โดยนักรบส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับไม่ใช่ชาวบอสเนีย
การลงนามในข้อตกลงวอชิงตันในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 ทำให้สงครามระหว่างบอสเนีย-โครแอตสิ้นสุดลง กลุ่มมุญาฮิดีนยังสู้รบกับชาวเซิร์บต่อไป จนกระทั่งบันทึกสันติภาพเดย์ตันในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ทำให้สงครามสิ้นสุดลง และเหล่านักรบต่างชาติถูกบีบให้ออกนอกประเทศ ส่วนผู้ที่แต่งงานกับชาวบอสเนียหรือไม่มีที่กลับได้รับสัญชาติบอสเนียและอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้
หลังจากการถอนตัวของสหภาพโซเวียต อัฟกานิสถานอยู่ในสภาพวุ่นวายถึง 7 ปี จากการสู้รบของกลุ่มที่เคยเป็นพันธมิตรกัน ในช่วง พ.ศ. 2533 มีกลุ่มใหม่เกิดขึ้นคือกลุ่มตาลีบันหรือตอลิบาน (แปลตามตัว = นักเรียน) เป็นกลุ่มเยาวชนที่เกิดในอัฟกานิสถานยุคสงครามได้รับการศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม (มัดรอซะ; madrassas) ในเมืองกันดาฮาร์ หรือค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน
ผู้นำของตอลิบาน 5 คนจบการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม Darul Uloom Haqqania ใกล้กับเมืองเปศวาร์ในปากีสถาน แต่ผู้เข้าเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากปากีสถาน โรงเรียนนี้สอนศาสนาตามลัทธิซาลาฟีย์ และได้รับการสนับสนุนจากชาวอาหรับโดยเฉพาะบิน ลาดิน ชาวอาหรับในอัฟกานิสถานและตอลิบานมีความเกี่ยวพันกันมาก หลังจากโซเวียตถอนตัวออกไป ตอลิบานมีอิทธิพลมากขึ้นจนสามารถก่อตั้งรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน ใน พ.ศ. 2537 ตอลิบานเข้ายึดครองพื้นที่ในเมืองกันดาฮาร์และเข้ายึดกรุงคาบูลได้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2539
หลังจากซูดานได้บีบให้บิน ลาดินและกลุ่มของเขาออกนอกประเทศ เป็นเวลาเดียวกับที่ตอลิบานมีอำนาจในอัฟกานิสถาน บิน ลาดินจึงเข้าไปตั้งมั่นในเขตจะลาลาบาด ในเวลานั้นมีเพียงปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เท่านั้นที่ยอมรับว่าตอลิบานเป็นรัฐบาลของอัฟกานิสถาน บิน ลาดินพำนักในอัฟกานิสถาน จัดตั้งค่ายฝึกนักรบมุสลิมจากทั่วโลก จนกระทั่งรัฐบาลตอลิบานถูกขับไล่โดยกองกำลังผสมภายในประเทศร่วมกับกองทหารสหรัฐใน พ.ศ. 2544 หลังจากนั้นเชื่อกันว่า บิน ลาดินยังคงพำนักกับกลุ่มตอลิบานในบริเวณชายแดนปากีสถาน
พ.ศ. 2536 Ramzi Yousef ผู้นำคนหนึ่งของอัลกออิดะฮ์ ใช้การวางระเบิดในรถยนต์ โจมตีตึก    เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก แต่ไม่สำเร็จ และ Yousef ถูกจับในปากีสถาน แต่ก็เป็นแรงดลใจให้กลุ่มของบิน ลาดิน ทำสำเร็จเมื่อ 11 กันยายน พ.ศ. 2544
อัลกออิดะฮ์เริ่มสงครามครูเสดใน พ.ศ. 2539 เพื่อขับไล่กองทหารต่างชาติออกไปจากดินแดนอิสลามโดยต่อต้านสหรัฐและพันธมิตร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 บิน ลาดินและ Ayman al-Zawahiri ผู้นำของกลุ่มญิฮาดอียิปต์และผู้นำศาสนาอิสลามอีกสามคน ร่วมลงนามใน ฟัตวาห์”, หรือคำตัดสินภายใต้ชื่อแนวร่วมอิสลามโลกเพื่อญิฮาดต่อต้านยิวและครูเสด (World Islamic Front for Jihad Against the Jews and Crusaders; ภาษาอาหรับ: al-Jabhah al-Islamiyya al-'Alamiyya li-Qital al-Yahud wal-Salibiyyin)โดยประกาศว่าเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมทุกประเทศในการสังหารชาวสหรัฐและพันธมิตรทั้งทหารและพลเรือนเพื่อปลดปล่อยมัสยิดอัลอักซาในเยรูซาเลมและมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ในเมกกะ หลังจากนั้นได้เกิดการวางระเบิดสถานทูตสหรัฐในแอฟริกาตะวันออกภายในปีเดียวกัน มีผู้เสียชีวิต 300 คน ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 เกิดระเบิดพลีชีพในกองทัพเรือสหรัฐในเยเมน

วินาศกรรม 11 กันยายน และปฏิกิริยาของสหรัฐ

การก่อวินาศกรรม 11 กันยายน ทำให้สหรัฐและนาโตออกมาต่อต้านอัลกออิดะฮ์ และฟัตวาห์ พ.ศ. 2541 การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นวินาศภัยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน รวมทั้งความเสียหายจากการพังทลายของตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์และตึกเพนตากอนถูกทำลายลงไปบางส่วน หลังจากนั้น สหรัฐได้มีปฏิบัติการทางทหารโต้ตอบเรียกร้องให้ มุลลาห์ โอมาร์ ผู้นำตอลิบานส่งตัวบิน ลาดินมาให้ แต่ตอลิบานเลือกที่จะส่งตัวบิน ลาดินให้ประเทศที่เป็นกลาง สหรัฐจึงส่งกองทัพอากาศทิ้งระเบิดทำลายที่มั่นที่เชื่อว่าเป็นแหล่งกบดานของอัลกออิดะฮ์ และส่งปฏิบัติการทางทหารภาคพื้นดินร่วมกับพันธมิตรฝ่ายเหนือเพื่อล้มล้างรัฐบาลตาลิบัน  ทหารสหรัฐในอัฟกานิสถานหลังจากถูกกวาดล้าง กลุ่มอัลกออิดะฮ์พยายามรวมตัวอีกครั้งในเขต Gardez แต่ยังคงถูกโจมตีจากฝ่ายสหรัฐ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2545 กองทัพอัลกออิดะฮ์ถูกทำลายจนลดประสิทธิภาพลงมาก ซึ่งเป็นความสำเร็จในขั้นต้นของการรุกรานอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตาม ตอลิบานยังมีอิทธิพลอยู่ในอัฟกานิสถาน และผู้นำคนสำคัญของอัลกออิดะฮ์ยังไม่ถูกจับ ใน พ.ศ. 2547 สหรัฐกล่าวอ้างว่าจับตัวผู้นำของอัลกออิดะฮ์ได้ 2 – 3 คน แต่อัลกออิดะฮ์ก็ยังดำเนินกิจกรรมต่อไปได้
กิจกรรมในอิรัก
บิน ลาดิน เริ่มให้ความสนใจอิรักตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2533 อัลกออิดะฮ์ติดต่อกับกลุ่มมุสลิมชาวเคิร์ด Ansar al-islam ใน พ.ศ. 2542 ระหว่างการรุกรานอิรักใน พ.ศ. 2546 อัลกออิดะฮ์ให้ความสนใจเป็นพิเศษ หน่วยทหารของอัลกออิดะฮ์เริ่มวางระเบิดกองบัญชาการของสหประชาชาติและกาชาดสากล พ.ศ. 2547 ฐานที่มั่นของอัลกออิดะฮ์ในเมืองฟาลูยะห์ ถูกโจมตีและปิดล้อมด้วยกองทหารสหรัฐ แต่อัลกออิดะฮ์ยังคงโจมตีทั่วอิรัก แม้จะสูญเสียกำลังคนไปมาก ในระหว่างการเลือกตั้งในอิรัก พ.ศ. 2548 กลุ่มอัลกออิดะฮ์ออกมาประกาศความรับผิดชอบระเบิดพลีชีพ 9 ครั้งในแบกแดด
Abu Musab al-Zarqawi ทหารชาวจอร์แดนเป็นผู้จัดตั้งองค์กร "Jama'at al-Tawhid wal-Jihad" เมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2547 และประกาศเป็นตัวแทนของอัลกออิดะฮ์ในอิรัก หลังจากเขาถูกฆ่าจากการโจมตีทางอากาศโดยสหรัฐเมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่ Baqubah เชื่อกันว่า Abu Ayyub al-Masri ขึ้นเป็นผู้นำอัลกออิดะฮ์ในอิรักแทน แม้ว่าการต่อสู้ของอัลกออิดะฮ์ในอิรักยังไม่ประสบผลในการขับไล่กองทหารอังกฤษและสหรัฐ รวมทั้งล้มล้างรัฐบาลของผู้นับถือนิกายชีอะฮ์ แต่ก็ได้สร้างความรุนแรงกระจายไปทั่วประเทศ
 อัลกออิดะฮ์ในแคชเมียร์
เมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ชายลึกลับอ้างตัวเป็นสมาชิกอัลกออิดะฮ์โทรศัพท์ไปที่นักข่าวท้องถิ่นในศรีนคร ประกาศว่าขณะนี้อัลกออิดะฮ์เข้ามาในแคชเมียร์แล้ว เพื่อปกป้องชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ถูกรัฐบาลอินเดียกดขี่ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กลุ่มอัลกออิดะฮ์แทรกซึมเข้ามาในบริเวณนี้ตั้งแต่ก่อนการรุกรานอัฟกานิสถานของสหรัฐ และน่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายในปากีสถาน


อัลกออิดะห์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากอ่าวเอเดน ถึง บาหลี ถ้าไม่เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นที่เกาะบาหลี กรณีที่รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามปฏิเสธว่าไม่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์อยู่ในดินแดนของตนตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ก็จะเป็นสาระชวนขันในแวดวงของผู้คลุกคลีอยู่กับงานด้านก่อการร้าย ความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินจากเหตุลอบวางระเบิดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องข้างต้นตลกแค่ไหนก็ไม่มีใครขำออก
ขณะที่ผลการสืบสวนของสิงคโปร์ระบุยืนยันอย่างหนักแน่นว่ากลุ่มหัวรุนแรงที่แฝงตัวอยู่ในอินโดนีเซียกำลังวางแผนจะโจมตีเป้าหมายของประเทศตะวันตกในสิงคโปร์ด้วยการลอบวางระเบิด แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ยังยืนกรานว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และถึงตอนนี้อินโดนีเซียก็ได้เผชิญกับเหตุก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
คำปฏิเสธอย่างแข็งขันของรัฐบาลอินโดนีเซียสงบลงพร้อม ๆ กับเสียงกัมปนาทของระเบิด สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้เห็นว่าคำปฏิเสธข้างต้นเป็นคำตอบที่แสนจะไร้เหตุผล ก็ยังเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องไม่เอาใจใส่ต่อปัญหาก่อการร้ายของทางการอินโดนีเซีย
เราคงไม่สงสัยกันแล้วว่าเหตุลอบวางระเบิดในย่านบันเทิงบนเกาะบาหลี เกิดขึ้นในวันครบรอบ 2 ปีของการโจมตีเรือพิฆาต ยูเอสเอส โคลท์ (USS Cole) ของสหรัฐฯ ที่อ่าวเอเดน ประเทศเยเมน เป็นการโจมตีที่มีเป้าประสงค์หลักคือต้องการจะสังหารเข่นฆ่านักท่องเที่ยวชาวตะวันตก และเราคงไม่สงสัยอีกเช่นกันว่ากลุ่มนักรบมุสลิมที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบวางระเบิดครั้งนี้


อิทธิพลของอัลกออิดะห์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าสหรัฐฯ จะเพิ่งตระหนักอย่างแน่ชัดในช่วงหลังเหตุก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ว่า กลุ่มอัลกออิดะห์มีอิทธิพลทางความคิดต่อกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอิทธิพลทางความคิดที่กล่าวถึงนี้ก็ลงรากลึกเกินกว่าการคาดคะเนที่เคยปรากฏในรายงานของนักวิเคราะห์ด้านข่าวกรองของประเทศตะวันตก
การเชื่อมโยงและการเกื้อกูลกันของแต่ละกลุ่มทอดผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว และผูกแน่นไว้บนแนวความคิดทางการเมืองที่สอดคล้อง และอัลกออิดะห์ก็พยายามแผ่ขยายอิทธิพลทางด้านความคิดให้ครอบคลุมไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สำหรับอินโดนีเซียเป็นคนละกรณีกับประเทศในเอเชียอาคเนย์อื่น ๆ เมื่อพิจารณาจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะ กลไกการปกครองของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมไม่ถึง ผนวกกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับประชนชนในท้องถิ่น ที่ลุกลามขึ้นจนกลายเป็นความรุนแรงในหลายพื้นที่ ทำให้อินโดนีเซีย กลายเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแฝงตัวของอัลกออิดะห์
จะว่าไปแล้ว ความแข็งกร้าวของอดีตรัฐบาลภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ เป็นเชื้อปะทุสำคัญที่ทำให้อัลกออิดะห์สามารถขยายแนวร่วมและปักฐานลงในดินแดนของอินโดนีเซียได้อย่างมั่นคง เพราะอินโดนีเซียเป็นดินแดนที่เส้นแบ่งระหว่างนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกับนักรบของกลุ่มก่อการร้าย บางเสียจน การมองด้วยตาเปล่าเพียงอย่างเดียว แทบจะไม่เห็นความแตกต่างของทั้งสองกลุ่มเลยแม้แต่น้อย
การที่ซูฮาร์โต้ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างหนัก ทำให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากถูกดันให้ข้ามไปอยู่อีกฝากตรงข้ามที่มีกับอัลกออิดะห์ชูป้ายแห่งอุดมการณ์รอรับอยู่ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในอินโดนีเซีย ทำให้กลุ่มเคร่งศาสนาจำนวนมากตั้งความหวัง และฝันถึงการจัดตั้งรัฐอิสระ ดาอูลาห์ อิสลามิอาห์ รายา(Daulah Islamiah Raya) ” ที่จะรวมดินแดนทั้งหมดของอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และบางส่วนของฟิลิปปินส์ ไทย และกัมพูชา เข้ามาร่วมเป็นมหาประเทศอิสลาม ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการของวาห์ฮาบี้ ผู้ก่อตั้งระบอบตอลีบัน สอดคล้องกับหลักการแนวทางต่อสู้ทางศาสนา โลกะจีฮัด” (Global Jihad) ของ อุซามะ บิน ลาดิน
เพื่อให้การขยายอิทธิพลของอัลกออิดะห์ให้แผ่กว้างออกไป อุซามะ บิน ลาดิน เสนอให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน และการฝึกอบรมด้านการรบ ให้แก่กลุ่มหัวรุนแรงท้องถิ่น ในทางกลับกันสิ่งที่ได้ตอบแทนคืนกลับมาคือ แนวร่วมในการต่อสู้เพื่อขับไล่ชาวตะวันตกออกไปจากแผ่นดินของชาวมุสลิม


                                                                                        บรรณานุกรม

  1. เครือข่ายอัลกออิดะห์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.  (2552). 28 มกราคม 2555, http://www.oknation.net/blog/print.php?id=499445

2.       กลุ่มก่อการร้ายสากลกระฉ่อนโลก. (2550). 28 มกราคม 2555, http://manman.is.in.th/?md=webboard&ma=showtopic&id=216


  1. อัลกออิดะฮ์. (2552). 28 มกราคม 2555, http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%B0%E0%B8%AE%E0%B9%8C